ถ้าการเมืองดี

ในช่วงที่ผ่านมา แฮชแท็กที่มักจะขึ้นมาบ่อยๆ ในทวิตเตอร์คือแฮชแท็ก “#ถ้าการเมืองดี”

ถ้าการเมืองดี น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพ สายไฟจะเรียบร้อย รถจะไม่ติด ประชาชนจะอยู่ดีกินดี บริการสาธารณสุขของรัฐจะมีคุณภาพ ฯลฯ

แฮชแท็กเดียว แต่ครอบคลุมทุกอย่างในจักรวาล!

ขอแค่การเมืองดี มีการแก้รัฐธรรมนูญ ทหารเลิกยุ่งกับการเมือง ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง

เป็นแฮชแท็กที่ทำให้เห็นว่ามีคนไทยหลายคนที่มีความรู้สึกสิ้นหวังกับการเมืองที่ ‘ไม่ดี’ ในวันนี้ เพราะการเมืองในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง มันแสดงให้เห็นความสิ้นหวังของคนไทยบางคนกับการที่ประเทศไทยดูจะหยุดอยู่กับที่มาเป็นเวลายาวนาน

แต่ในขณะเดียวกัน คนไทยที่รู้สึกเช่นนี้ก็ยังมีความเชื่อว่าการเมืองสามารถดีขึ้นได้ แม้การเมืองในวันนี้จะไม่ดี แต่ใครจะไปรู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

อนาคตอยู่ในมือของเราที่จะทำให้การเมือง ‘ดี’ ขึ้นมา และวิธีที่จะทำให้การเมืองดีก็คือการทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยนั่นเอง

มันคือแฮชแท็กแห่งความหวัง

แต่มันคือความหวังลมๆ แล้งๆ หรือไม่?

* * *

คอนเซ็ปต์ ‘ถ้าการเมืองดี’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นใจความหลักของหนังสือ Why Nations Fail ที่เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ Daron Acemoglu และนักรัฐศาสตร์ James A. Robinson ในปี 2555

ในหนังสือเล่มนี้ นักวิชาการทั้งสองอธิบายว่าปัจจัยที่จะกำหนดว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะเจริญได้หรือไม่ คือสถาบันทางการเมืองของประเทศนั้นๆ เพราะความมั่งคั่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง (inclusive institutions) และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองได้

พูดง่ายๆ คือ ‘ถ้าการเมืองดี…’!

ส่วนการเมืองที่ไม่ดี คือการเมืองที่เป็นระบบปิด (extractive institutions) ปล่อยให้ชนชั้นอีลีทขูดรีดราษฎร และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่อยู่นอกกลุ่มพรรคพวกของผู้นำมีสิทธิมีเสียงใดๆ

นอกจากนี้ ผู้เขียนกล่าวว่าปัจจัยอื่นๆ เช่น ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา และความสามารถของผู้นำ ไม่ใช้สิ่งที่จะชี้ชัดว่าประเทศจะพัฒนาหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่นประเทศเกาหลีเหนือและประเทศเกาหลีใต้ หรือเมืองที่อยู่ติดพรมแดนสหรัฐอเมริกา – เม็กซิโก เห็นได้ว่าแม้ประเทศสองประเทศที่คล้ายคลึงกันเพียงใดก็มีผลลัพธ์ทางการพัฒนาที่ต่างกัน เพราะระบบการเมืองที่เปิด-ปิดไม่เท่ากัน

เพราะฉะนั้น หากถามชาวทวิตภพทั้งหลาย ก็คงได้คำตอบว่าประเทศไทยมีสถาบันการเมืองในรูปแบบ extractive อย่างแน้แท้ไม่ต้องสงสัย ซึ่งเป็นต้นเหตุของความล่าช้าในการพัฒนาประเทศตลอดเวลาที่ผ่านมา

พออ่านแล้วก็เคลิ้มตาม…

แต่ถ้าลองคิดดูดีๆ ก็มีคำถามที่ตามมาว่า หากประเทศที่พัฒนาได้จำเป็นต้องมีระบบการเมืองเปิดกว้าง แล้วประเทศที่ใช้ระบอบอำนาจนิยมเติบโตมาได้อย่างไร?

เติ้งเสี่ยวผิงอาจจะเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจของจีนให้เปิดมากขึ้นก็จริง แต่ก็ใช้หลักการเศรษฐกิจเปิด การเมืองปิด (“On economic matters, relaxed controls; for political matters, tight controls”) ตั้งมั่นในหลักการว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต้องกุมอำนาจทางการเมืองทั้งหมดตลอดไป

นักวิชาการทั้งสอนยืนยันในหนังสือว่าหากพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ยอมเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยก็จะต้องล่มสลายไปเอง แต่ผ่านมาแปดปีนับจากการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ระบบการเมืองจีนภายใต้สีจิ้นผิงกลับหันไปในทางที่ปิดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยยังไม่มีทีท่าว่าระบบจะล่ม

นอกจากนี้ ตลอดพันๆ ปีที่จีนปกครองภายใต้ระบอบจักรพรรดิ ก็นับเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีความมั่งคั่งมี่สุดในโลกอยู่เสมอ

ส่วนในอาเซียน ประเทศที่เจริญที่สุดคือสิงคโปร์ ซึ่งก็มีระบบการเมืองที่ปิดพอสมควร ลีกวนยูกล่าวชัดเจนว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกไม่ใช่แนวทางที่สิงคโปร์ควรใช้ ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นประเทศเวียดนามก็ยังนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าทฤษฎี ‘ถ้าการเมืองดี’ ยังมีข้อบกพร่องหลายจุดนัก จนแม้แต่บิลล์ เกตส์ ยังกล่าวว่า Why Nations Fail เป็นหนังสือที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง

* * *

โดยรวมแล้วการใช้แฮชแท็กถ้าการเมืองดีเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ เพราะว่ามันคือการชี้ให้รัฐเห็นว่าความต้องการของประชาชนคืออะไร คนไทยไม่พอใจกับสิ่งใดในสังคมไทยบ้าง

สำคัญไปกว่านั้น แฮชแท็กนี้เชิญชวนให้คนใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดีขึ้น และชี้ว่าเราไม่ควรพอใจกับระบอบอำนาจนิยมในยุคนี้

การแก้รัฐธรรมนูญมีความสัมพันธ์กับเรื่องของปากท้องจริง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเอื้อให้เกิดรัฐบาลที่อ่อนแอ ผสมไปด้วยพรรคเล็กพรรคน้อยที่เข้ามาแย่งชิงผลประโยชน์ พายเรือไปคนละทิศคนละทาง ทำให้ไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ล็อคอำนาจไว้กับขั้วการเมืองเพียงขั้วเดียว ซึ่งเป็นชนวนที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างไม่จบไม่สิ้น ซึ่งจะแก้ได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายเคารพในครรลองของประชาธิปไตยเท่านั้น

การเรียกร้องให้ไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะพิทักษ์สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในไทยได้

แต่ถ้าจะกล่าวว่าเมื่อมีประชาธิปไตย ชาติจะเจริญขึ้นในทันที ก็คงเป็นการขายฝัน

แม้แต่นักวิชาการรัฐศาสตร์ก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่า ประชาธิปไตยนำมาซึ่งการพัฒนา หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจคือสิ่งที่เอื้ออำนวยให้ระบอบประชาธิปไตยฝังรากได้กันแน่

เราต้องคำนึงว่าการเมืองจะดีขึ้นได้ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายมิตินักที่ต้องปรับปรุง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบราชการที่ล้าหลัง การโอนอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น และการปราบทุจริตคอรัปชั่น ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่ควรเรียกร้องคู่กับประชาธิปไตย เพื่อให้การเมืองดีอย่างแท้จริง

หากประชาธิปไตยสามารถทำให้น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพ สายไฟเรียบร้อย รถไม่ติด ประชาชนอยู่ดีกินดี บริการสาธารณสุขของรัฐมีคุณภาพได้จริง ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง

แต่จะมีอะไรที่เจ็บช้ำเท่ากับความหวังที่ไม่เป็นจริง?

ประเทศไทยเคยเห็นมาแล้วมากมาย ทั้งนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแต่สุดท้ายแล้วกลับบริหารไม่เป็น หรือไม่ก็ทำอะไรได้เชื่องช้าจนถูกตั้งเป็นฉายา

เราจึงไม่ควรผูกประชาธิปไตยกับการยกระดับคุณภาพชีวิตแบบก้าวกระโดด เพราะมันอาจเป็นการ ‘raise expectation’ ให้กับระบอบใดระบอบหนึ่งมากไป หรือจะพูดตรงๆ ก็คือ เราไม่ควรขายฝัน โดยเฉพาะถ้าฝันที่ถูกขายมีโอกาสที่จะหวนกลับมาทำลายความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยในวันข้างหน้า

เพราะสุดท้ายแล้ว แฮชแท็ก ‘ถ้าการเมืองดี’ ก็คือการเมืองแห่งความหวัง ยิ่งมีคาดหวังมาก ก็ยิ่งมีโอกาสผิดหวังมาก

และความหวังที่สูญหาย ก็เพียงแต่จะนำไปสู่ศรัทธาในประชาธิปไตยที่เสื่อมคลายลงในอนาคต

(เครดิตภาพ)


Posted

in

by

Tags:

Comments

Leave a comment.

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.